Saturday, August 27, 2011

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผ่าไส้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

คอลัมน์ รายงานพิเศษ


การ แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาผ่านไปเรียบร้อย จากนี้ไปคงเป็นช่วงเวลาที่ต้องพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาล ว่า จะรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนทั้งประเทศกว่า 63 ล้านคน อย่างที่ประกาศไว้เมื่อช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่

โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และผู้จบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท

เพราะแรงกดดันให้รัฐบาลดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.55 เริ่มแรงขึ้นทุกที
ขณะ ที่มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลบิดพลิ้วเปลี่ยนคำว่า "ค่าจ้าง" เป็น "รายได้" ซึ่งรายได้หมายรวมถึง ค่าโอที ค่าสวัสดิ การต่างๆ รวมแล้ววันละ 300 บาท ในที่สุดจะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจน

แต่ในมุมมอง ของ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ ได้ผนวกข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรง งานไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า ความจำเป็นที่ไทยต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีอยู่อย่างมาก เพราะย้อนหลังไป 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำโตแค่ 2-3% เท่ากับระดับเดียวกับเงินเฟ้อเท่านั้น

แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ค่าจ้างขึ้นด้วยวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดแรงงานไทย มีลักษณะเฉพาะที่สื่อว่า นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจไม่ได้ช่วยคนในจำนวนมากอย่างที่คิด

เนื่องจากโครงสร้างแรงงานไทย ทั่วประเทศมีจำนวน 38 ล้านคน (อายุ 35-60 ปี) ในจำนวนนี้มี 21 ล้านคน ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ชาวนา พ่อค้า แม่ค้า คนขับแท็กซี่ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ

ส่วนที่เหลืออีก 17 ล้านคน เป็นลูกจ้างที่รับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายปรับขึ้นค่า จ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท สะท้อนว่าคนที่ได้รับประโยชน์มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งของแรงงานทั้งประเทศ

ถ้า ถามว่าผลจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น คือ ในที่สุดผู้ประกอบการรายย่อยก็จะแบกรับต้นทุนลำบาก จนกิจการอาจไปไม่รอด และปิดตัวลงในที่สุด ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งใน 17 ล้านคน ต้องตกงาน และดิ้นรนให้ตัวเองออกไปอยู่ในพวกที่ประกอบอาชีพอิสระ 21 ล้านคนมากขึ้น

จาก ข้อมูลของ สสช. เกี่ยวกับตลาดแรงงานล่าสุดเมื่อปี"53 พบว่า ลูกจ้างในประเทศไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 300 บาท มี 11.5 ล้านคน (โดยสำรวจจากรายได้ที่เป็นเงินเดือน ที่คำนวณจากวันทำงานเฉลี่ยเดือนละ 26 วัน คูณ 300 บาท) มีรายได้เดือนละ 7,800 บาท ดังนั้น หากรัฐบาลจะทำนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททันทีทั่วประเทศ ถือว่าครอบคลุมแรงงานจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในแรงงาน 11.5 ล้านคน มี 10.5 ล้านคน เป็นลูกจ้างในภาคเอกชน โดยส่วนใหญ่อยู่ในบริษัทที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 10 คน เช่น สาขาก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ/เสื้อผ้า และอาหาร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ที่คงแบกภาระไม่ไหวในที่สุด ก็ต้องเลิกจ้าง แทนที่แรงงานจะได้ประโยชน์ แต่คงตายกันหมด เพราะกิจการไปไม่รอดอีก

ส่วนที่เหลือ 1 ล้านคน เป็นลูกจ้างอยู่ในหน่วยงานราชการ ซึ่งหากรัฐบาลจะนำร่องก็ถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์

ขณะ ที่ บริษัทรายใหญ่ที่มีกำลังก็สามารถปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทได้ ลูกจ้างก็ได้ประโยชน์ แต่ในภาพรวมบริษัทที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ ไม่ได้มีค่าจ้างต่ำที่สุด แต่ทว่าบริษัทที่ให้ค่าจ้างต่ำสุดเป็นบริษัทขนาดเล็ก

นอกจากนี้ จากสถิติยังพบว่า ค่าจ้างในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำจริงๆ โดยค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานที่จบระดับชั้นมัธยมต้นอยู่ที่เดือนละ 6,100 บาท จบมัธยมปลายเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 7,800 บาท และใน 76 จังหวัด (ข้อมูล ณ ปี"53) มี 53 จังหวัด มีค่าจ้างขั้นต่ำต่ำกว่า 300 บาท

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายใน จ.ภูเก็ต สูงสุด 221 บาท แต่ไม่ได้เป็นที่ค่าจ้างเฉลี่ยแท้จริงสูงสุด กลับกลายเป็นค่าจ้างที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และนครราชสีมา มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด อีกทั้งจำนวนคนที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำมีน้อยมากแค่ 40,000 กว่าคน

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากรัฐบาลเริ่มปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในกทม. ก่อน ผลที่ได้รับไม่น่าเยอะ เพราะค่าจ้างเฉลี่ยใน กทม. ตอนนี้สูงว่ากว่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ฟังดูดี แต่การที่ค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่าไม่มีจำนวนคนที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งในความเป็นจริงยังมีจำนวนคนอีกมากที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย เพราะค่าจ้างเฉลี่ยในกรุงเทพฯ สูงกว่าเดือนละ 7,800 บาท แต่ก็ยังมีคนในกรุงเทพฯ อีก 8 แสนกว่าคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 7,800 บาทต่อเดือน

"ยังไม่เห็นมีใครเอาข้อมูลที่แท้จริงมาพูด งงเหมือนกันว่า คนพูดเรื่อง 300 บาทกันหมด แต่ไม่มีใครพูดตัวเลขแรงงานแบบนี้ แถมได้ยินตัวเลขที่กระทรวงการคลังพูดว่ามีลูกจ้างที่จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำวัน ละ 300 บาท จำนวน 5 ล้านคน ผมว่าไม่ใช่ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลนี้แล้ว รัฐบาลก็ไปตีความเอาเอง ถ้าพยายามทำจริง ผลจะแรงมาก และผลที่หวังจะไปช่วยคนที่มีรายได้ต่ำสุด อาจจะไม่ได้ เพราะคนที่อยู่บริษัทขนาดเล็กจะรับไม่ได้" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

แต่หากถามว่า รัฐบาลจะทำได้เต็มที่หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าทำไม่ได้ ยิ่งถ้าบอกว่า นโยบายนี้เป็นมาตรการสมัครใจ ไม่บังคับภาคเอกชน จะนำร่องราชการและรัฐวิสาหกิจก่อน ผลกระทบก็คงมีไม่มาก



ส่วน นโยบายให้เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 15,000 บาท นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า พบข้อมูลปัจจุบันมีคนจบปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี ที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท อยู่ในจำนวนแรงงาน 17 ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาครัฐ โดยเฉพาะสาขาครู เป็นต้น

"ถ้าถามผม มองว่า 15,000 บาทต่อเดือน ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะจำนวนคนไม่มาก และส่วนมากอยู่ในภาครัฐก็เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดการ ส่วนที่อยู่ในภาคเอกชนก็เป็นในบริษัทเอกชนรายใหญ่ รับได้อยู่แล้ว แต่โครงสร้างรายได้ราชการจะป่วน เพราะต้องขยับเงินเดือนพร้อมกันทุกระดับ"

เพราะ ฉะนั้น ในที่สุดแล้ว ประโยชน์ที่ได้จริง ไม่ได้ดูที่ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันเป็นอย่างไร ต้องเทียบค่าจ้างเฉลี่ยปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ รวมทั้งค่าจ้างขั้นต่ำของไทยที่ปรับขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะเทียบกับประสิทธิภาพ แต่ประสิทธิภาพก็ไม่ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่บ๊วยก็รองบ๊วย

"ส่วนตัวเห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวัน ละ 300 บาท ทำไปก็ได้ แต่ถ้าถามผมจากตัวเลข 300 บาท มองว่ามันแรงเกินไป แต่ก็ควรมีการขึ้นที่สำคัญต้องควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิ ภาพ ไม่เช่นนั้นค่าจ้างก็ไม่ขึ้นอย่างยั่งยืน มันอาจจะต้องขึ้นและก็หยุดลง ซึ่งโดยหลักการค่าจ้างจะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประสิทธิภาพการผลิตมีมากขึ้น และแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว



ที่ สำคัญ ประเทศไทยยังขาดการลงทุนที่จะสนับสนุนการผลิตและการจ้างงาน โดยการลงทุนของไทยถือว่าฐานต่ำมาก เห็นได้จากมูลค่าการลงทุนแท้ จริงของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันปัจจุบันมีแค่ 70% ของเมื่อปี"39 ที่การลง ทุนของไทยสูงสุดก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง

โดยเฉพาะไทยยังเป็น ประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ระดับมูลค่าการลงทุนต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต ขณะที่การลงทุนของประเทศอื่นตีตื้นกลับมาเกือบเท่ากับ ระดับเดิม หรือบางประเทศก็ขยายตัวกว่า 100% หมดแล้ว

แต่หากรัฐบาลมีแนวคิดจะ ปรับค่าจ้างขึ้นแบบขั้นบันได ก็น่าจะดีกว่าขึ้นทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ และอย่าให้ค่าจ้างอยู่ในระดับเท่ากันทั่วประเทศ ต้องพิจารณาจากค่าครองชีพ และค่าจ้างเฉลี่ยแต่ละจังหวัดว่าเป็นเท่าไหร่เป็นหลัก

ปัญหาใหญ่ที่ จะมาอีก คือ ถ้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ครอบคลุมแรงงานต่างด้าว จะเกิดปัญ หาแรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาในไทยอีกจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องให้รัฐบาลต้องขบคิด

Related Posts by Categories



You want it? Click here | Yul Jet

No comments:

Post a Comment