Friday, August 19, 2011

แถลงการณ์เครือข่าวสด-มติชน


ต่อ รายงานคุณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมล์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน



ตาม ที่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือ พิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมล์ของนักการเมืองระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จากการเสนอข่าวอีเมล์ 2 ฉบับ ที่ใช้หัวข้อว่า "จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์" ส่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 และ "ข้อเสนอ วิม" ส่งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เผยแพร่ในเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งพาดหัวว่า "กุนซือ "ปู" ซื้อสื่อที่ละ 2 หมื่น" โดยเนื้อหาข่าว พาดพิงถึงการทำหน้าที่ของสื่อหนังสือพิมพ์หลายสังกัด ที่เป็นองค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมีรายชื่อคณะอนุกรรมการ ดังต่อไปนี้

1.นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน 2.นางบัญญัติ ทัศนียะเวช 3.รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ 4.ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ 5.ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นเลขานุการ

ซึ่งผลการสอบ สวนระบุว่า คณะอนุกรรมการ เห็นว่า การนำเสนอข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูก พาดพิงบางฉบับโดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพ ที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมืองและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

อย่าง ไรก็ตาม เห็นว่า บทความของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงในช่วงที่ศึกษาไม่ได้ แสดงความเอนเอียงที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างแจ้งชัด

เครือ มติชน-ข่าวสด ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสอบสวนดังกล่าว ไม่สามารถยอมรับผลการสอบสวนดังกล่าวได้ และมีความเห็นว่า การสอบสวนครั้งนี้ดำเนินไปโดยผิดหลักทั้งด้านกฎหมาย ความมีเหตุผล และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ดังนี้

1.คณะอนุกรรมการดำเนินการสอบสวนนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย


ทั้ง ที่หัวข้อการสอบสวนของสภาการหนังสือ พิมพ์นั้นระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการ "ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการส่งอีเมล์ของนักการเมืองระบุการให้เงิน และผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ มวลชน"

แต่แทนที่จะดำเนินการ สอบสวนบุคคลที่เกี่ยว ข้องตามที่ได้รับมอบหมาย ดังชื่อของรายงานการสอบสวนคณะอนุกรรมการกลับตั้งประเด็นการสอบสวนว่า

ก.อีเมล์ที่ปรากฏตามข่าวเป็นของใคร

ข.หนังสือ พิมพ์ที่ถูดพาดพิงแต่ละฉบับมีการเสนอข่าวอย่างไรในช่วงเวลาการหาเสียงเลือก ตั้ง และผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพาดพิงมีการกระทำตามที่ปรากฏในอีเมล์หรือไม่

ค.มีการจ่ายสินบนตามข้อกล่าวหาในอีเมล์จริง หรือไม่

จะ เห็นได้ว่า ประเด็น "หนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงแต่ละฉบับมีการนำเสนอข่าวอย่างไร ในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง" ถูกเพิ่มขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่ง

2.คณะอนุกรรมการกระทำผิดหลักการและมรรยาทของการสอบสวนข้อเท็จจริง


ไม่ เพียงแต่จะกำหนดหัวข้อการสอบสวนขึ้นมาใหม่เอง แต่คณะอนุกรรมการผู้ดำเนินการสอบ สวนที่ขยายขอบเขตของการสอบสวนออกไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้ใดทราบ

ซ้ำยัง ไม่ดำเนินการเรียกหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากองค์กรที่ตนเองพาดพิงไปถึง เป็นการดำเนินการลับหลังแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้เกิดข้อสมมติฐานและข้อสรุปที่ผิดพลาด

ไม่แต่เพียงเท่านั้น การเปิดเผยผลสอบออกมาก่อนที่จะมีมติของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์รับรอง การสอบสวน ยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นายสุนทร จันทรังสี รองประธานสภาหนังสือพิมพ์เองก็ยังระบุว่า "สภาการหนังสือ พิมพ์ยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่าผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่"

การ ที่คณะอนุกรรมการนำผลการสอบสวนที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาเปิดเผยก่อน ขณะเดียวกันก็มีกระบวนการอื่นๆ รับช่วงต่อเนื่องยึดโยงให้เรื่องดังกล่าว เป็นประเด็นทางการเมือง ย่อมส่อเจตนาบางประการ

3.คณะอนุกรรมการละเมิดข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์เสียเอง


ข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือ พิมพ์ หมวด 2 จริยธรรมของหนังสือพิมพ์ข้อ 14 ระบุว่า

"หนังสือ พิมพ์ต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับ หากได้ให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ หนังสือพิมพ์ต้องปกปิดนามปาก กาหรือนามแฝงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นความลับ"

แต่ใน รายงานฉบับดังกล่าวของคณะอนุกรรม การกลับเปิดเผยนามปากกาของผู้ถูกสอบสวน โดยที่ผู้ถูกสอบสวนรายนั้นไม่ได้รับรู้และมิได้ให้ ความยินยอม

4.คณะอนุกรรมการดำเนินการสอบสวนโดยมีเป้าประสงค์ในใจอยู่แล้ว

เพราะ คณะอนุกรรมการก็ระบุเอาไว้เองว่า ทีมงานเว็บไซต์เมเนเจอร์ ออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้นำอีเมล์ที่เป็นปัญหามาเผยแพร่ แทบไม่ได้ตรวจสอบความ น่าเชื่อถือของข่าวดังกล่าวเลย

เช่น ไม่ได้ตรวจสอบบัญชีอีเมล์ของผู้รับว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เป็นบัญชีของใคร ไม่ได้ตรวจสอบกับผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในอีเมล์ โดยอ้างว่าหากสอบ ถามไป บุคคลที่ถูกพาดพิงก็อาจจะปฏิเสธได้ เพราะ ในเนื้อข่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่าคนที่ถูกกล่าวถึงถูกพาด พิงถึงนั้นเป็นใคร และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ที่ส่งข่าว มาให้เป็นใคร เป็นต้น

หากต้นตอ ของเรื่องไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ มิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบเหมือนข่าวปกติทั่วไป เหตุใดคณะอนุกรรมการจึงให้น้ำหนักและให้ความสำคัญต่อข่าวดังกล่าว ถึงขั้นขยายการสอบสวนออกไปสู่ประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเลยแต่ต้น

5.ผลสรุปของคณะกรรมการขัดแย้งกันในประเด็นสำคัญจนไม่น่าเชื่อถือ


ใน ขณะที่คณะอนุกรรมการสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหาในเครือมติชน-ข่าวสด 2 ราย ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่ามีความเอนเอียงที่จะอำนวยประ โยชน์ให้กับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาอีก 1 รายมิได้อยู่ในสังกัดที่ถูกระบุถึงด้วยซ้ำ

แต่คณะอนุกรรมการกลับระบุ ว่าหนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสด มีความเอนเอียงเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยเลือกใช้ข้อมูลเฉพาะส่วนที่สนับสนุนความคิดของตนเองเท่านั้นเป็นเครื่อง ตัดสิน

6.คณะอนุกรรมการพุ่งเป้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับหนังสือพิมพ์บางฉบับเป็นการเฉพาะ

ใน กรณีของหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งได้ทำหนัง สือชี้แจงว่า ไม่ปรากฏบุคคลที่มีชื่ออยู่ในอีเมล์อันเป็นที่มาของการสอบสวนอยู่ในกอง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด และข้อมูลที่เผยแพร่เป็นเท็จอย่างสิ้นเชิง อันแสดงให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์ข่าว สดมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวมาแต่ต้น

แต่คณะอนุกรรมการ กลับไปนำข้อมูลอื่น อันเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยทั่วไปมาผสมรวม แล้วเลือกหยิบประเด็นที่ตนเองปักใจเชื่ออยู่แล้วกล่าวหาว่า การ นำเสนอข่าวสารและบทความในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูก พาดพิงบางฉบับโดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การ เมืองและบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

การใช้ข้อมูลชนิดจับแพะชนแกะเพื่อให้ได้ผลสรุปตามที่ตนเองต้องการ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น

7.คณะอนุกรรมการมีโมหาคติในการสรุปผลการสอบสวน โดยไม่เข้าใจหลักการจัดทำหนังสือ พิมพ์


7.1 ระบุว่า ภาพข่าว/การบรรยายประกอบภาพหนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ ค่อนข้างนำเสนอภาพข่าวในทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเฉพาะข่าวสดและมติชน ซึ่งให้พื้นที่ ขนาด เนื้อหาของภาพเชิงบวกต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมาก

ทั้งที่ การเสนอข่าวดังกล่าวเป็นไปตามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มิใช่เรื่องที่หนังสือพิมพ์เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเองแต่อย่างใด

7.2 มีข้อสังเกตว่า ภาพข่าวหลายภาพของไทย รัฐ มติชน และข่าวสด มีความคล้ายกันมาก โดยภาพ ข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับภาพข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และคมชัดลึก

ทั้งที่การเลือกนำเสนอข่าวของแต่ละหนังสือ พิมพ์ ย่อมผิดแผกไปตามความสนใจของผู้อ่านของตนเอง ที่แต่ละฉบับต่างมีกลุ่มผู้อ่านแตกต่างกัน

7.3 ยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือ เชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อ ถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก

เช่น เดียวกับข้อ 7.1 ข่าวและภาพในแต่ละวันนั้น ย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หนังสือ พิมพ์ไม่สามารถปั้นแต่งขึ้นมาเองได้ แต่จะต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมาด้วยความเคารพในความจริง

7.4 พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็น ข่าวเลือกตั้ง : ข่าวสด มติชน และไทยรัฐ แสดง ออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ หนังสือพิมพ์ทั้ง 3 ฉบับมักใช้การพาดหัวข่าวในการกำหนดประเด็น ข่าว ซึ่งอาจชี้นำความคิดผู้อ่านให้เอนเอียงไปในทางที่โจมตีนายอภิสิทธิ์และพรรค ประชาธิปัตย์ และสนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย โดยกรณีของข่าวสดนั้นมีความชัดเจนที่สุด

หากคณะอนุกรรมการมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและหลักปฏิบัติของการทำหนังสือพิมพ์ ก็จะต้องทราบว่าพาดหัวข่าวหรือโปรยข่าวในแต่ละวันนั้น จะต้องสะท้อนข้อเท็จจริงของข่าวเป็นเบื้องต้น โดยอาจจะสรุปภาพรวมหรือหยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในข่าวขึ้นมา แต่ไม่สามารถที่จะพาด หัวหรือโปรยข่าวนอกเหนือไปจากความเป็นจริงในเนื้อข่าวได้

7.5 บทสัมภาษณ์พิเศษ/รายงาน สกู๊ปข่าว : ผลการศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์มติชน ให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึง 4 ครั้งคือการสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในขณะที่มีการสัมภาษณ์ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 ครั้งคือ การสัมภาษณ์นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย

ในขณะที่ข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับ เดียวที่แปลบทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอบีซีนิวส์โดยลงเนื้อหาทั้งหมดที่ไม่มี การตัดทอน ส่วนไทยรัฐและเดลินิวส์ไม่มีบทสัมภาษณ์พิเศษของพรรคการเมือง

ข้อสรุปนี้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนสำคัญในการสอบสวน นั่นคือการไม่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงให้รอบด้าน

ใน กรณีของหนังสือพิมพ์มติชนนั้น มีการทำจดหมายและติดต่อขอสัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ในช่วงการยุบสภา แต่นายอภิสิทธิ์ติดภารกิจไม่สามารถจัดเวลาให้สัมภาษณ์ได้ การสัมภาษณ์ถูกเลื่อนไปหลายครั้ง ความข้อนี้ทั้งนายอภิสิทธิ์และผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลย่อมยืนยันข้อ เท็จจริงได้

ไม่แต่เพียงเท่านั้น หนังสือพิมพ์มติชนยังติดต่อขอสัมภาษณ์นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอทราบและเผยแพร่แนวทาง-นโยบายในการหาเสียง แต่นายสุเทพ เป็นฝ่ายบอกปัดปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผย ความข้อนี้ก็มีพยานที่สามารถยืนยันได้เป็นจำนวนมาก

ในกรณีของหนังสือ พิมพ์ข่าวสด การเลือกลงบทสัมภาษณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกันกับการเลือกพิจารณาข่าวอื่นๆ นั่นคือดูที่ความน่าสนใจและผลกระทบของเนื้อหาเป็นหลัก และหนังสือพิมพ์ข่าวสดย่อมไม่สามารถไปล่วงรู้ได้ว่า หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นจะให้ความสนใจในข่าวเดียวกันมากน้อยเพียงใด หรือจะลงข่าวใดบ้างในหนังสือพิมพ์วันต่อไป

7.6 คอลัมน์การเมือง : หนังสือพิมพ์ข่าวสดมีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ข้อสรุปนี้ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนของคณะอนุกรรมการ

เพราะ หากติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาโดยตลอดก็จะทราบว่า สิ่งที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องรับผิดชอบสูงสุดต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนในเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ก็คือให้รัฐบาลอำนวยการให้การเปิดเผยความจริงและความยุติธรรมเกิดขึ้นโดย เร็ว รวมทั้งดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายให้ทั่วถึงและพอเพียง เพราะกรณีดังกล่าวจะเป็นปัญหาสังคมรุนแรงต่อไปในอนาคตหากขาดการจัดการที่ดี และดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด มิได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กล่าวอ้าง

หาก ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่มุ่งมั่นที่จะแสวงหาความจริง และมิได้มีจิตใจเห็นใจผู้ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน โดยเฉพาะความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บพิการ ย่อมไม่สมควรที่จะประกอบวิชาชีพสื่อ มวลชนต่อไป

7.7 โฆษณาพรรคการเมืองในหนังสือพิมพ์ : พรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือ พิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆษณา 18 หน้าสี นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทมติชนเท่านั้นคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ ส่วนพรรคประชาธิ ปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และคมชัดลึก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ ที่ได้ลงในหนัง สือพิมพ์ทั้ง 4-5 ฉบับ ทั้งนี้ ไม่พบโฆษณาพรรค การเมืองในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2554

แสดงถึงการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้เป็นตามใจตนเองของคณะอนุกรรมการ

เพราะ การที่ผู้ติดต่อขอลงโฆษณารายใดจะเลือก ลงโฆษณาในสื่อหรือหนังสือพิมพ์ใดๆ ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ลงโฆษณาเอง ว่าสื่อหรือหนังสือพิมพ์ที่เลือกลงโฆษณานั้นสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ ต้องการได้หรือไม่ สื่อหรือหนังสือ พิมพ์ไม่สามารถไปกะเกณฑ์หรือตัดสินใจแทนได้

ยิ่งไปกว่านั้น การลงโฆษณายังมิได้มีผลอย่างใดต่อการตัดสินใจในการนำเสนอข่าวของกอง บรรณาธิการ ไม่เช่นนั้นแล้ว หากใช้หลักการของคณะอนุกรรมการมาสรุป หนังสือพิมพ์มติชนและข่าวสดย่อมไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์พรรค การเมืองใดได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงว่าการทำหน้าที่ของกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับก็ยังดำเนินไปอย่างอิสระ

ไม่แต่เท่านั้น หากใช้ข้อสรุปแบบด่วนสรุปของคณะอนุกรรมการ โดยการนำเฉพาะตัวเลขหน้าโฆษณามาตัดสินใจอย่างง่ายๆ หนังสือพิมพ์ก็ยิ่งต้องเสนอข่าวในทางบวกให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทย เพราะว่าพรรคเหล่านั้นลงโฆษณามากกว่า ซึ่งในข้อเท็จจริงก็มิใช่เช่นนั้นอีก

8.คณะอนุกรรมการด่วนสรุปโดยไม่เป็นธรรม

จากข้อสรุปที่ระบุว่า

จาก ผลการศึกษาดังกล่าว เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะมี "การบริหารจัดการสื่อมวลชน" อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บาง ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการ "ดูแล" ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย

เพราะพรรค เพื่อไทยจะมีการบริหารจัดการสื่อ มวลชนอย่างเป็นระบบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในของพรรคเพื่อไทยเอง จากข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นก็ชัดเจนว่า การจัดการภายในของพรรค การเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมิได้มีผลต่อการทำ งานของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด

พรรคการเมืองใดพรรคการ เมืองหนึ่งอาจจะต้องการสร้างหรือประสานประเด็นข่าวของตนเองขึ้นมา แต่มิได้หมายความว่าหนังสือพิมพ์จะต้องตอบสนองตามความต้องการนั้น

นอก จากนั้น การใช้วิธีการคาดเดาว่า "น่าจะ" มีการส่งภาพข่าวไปลงตีพิมพ์ แล้วด่วนสรุปเอาเองโดยทันที โดยไม่มีการสอบถามหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้าน ย่อมแสดงถึงความโน้มเอียงของคณะอนุกรรมการเอง

แต่ที่เป็นการกล่าวหา กันอย่างร้ายแรงที่สุด ก็คือการใช้ถ้อยคำกำกวมเพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านเอกสารดังกล่าวตีความไปในทางลบ เช่น อาจมีการ "ดูแล" ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคเพื่อไทย นอกจากไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา เพราะเป็นการอ้างข้อมูลที่เลื่อนลอยแล้ว ยังแสดงถึงเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ของผู้ดำเนินการสอบสวน ที่มีเป้าประสงค์มากกว่าตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับมอบหมาย

ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงมาเบื้องต้นเครือมติชน-ข่าวสดจึงขอกราบเรียนด้วยความเคารพ ต่อหลักการของสภาการหนังสือพิมพ์ว่า

หนังสือ พิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ รวมไปถึงสื่ออื่นๆ ทั้งหมดในเครือ จึงไม่สามารถรับผลการสอบสวนและข้อสรุปที่ปราศจากข้อเท็จจริงและเป็นไป โดยอคติของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้

เครือมติชน-ข่าวสดขอยืน ยันในความเป็นอิสระ ความสุจริต และความประพฤติที่เป็นไปตามกรอบ จรรยาบรรณของบรรพสื่อมวลชน รวมไปถึงข้อบังคับ ทางจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะ ในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ปลอด จากอามิสสินบนที่มิชอบในทุกรูปแบบ ซึ่งได้ปฏิบัติ มาโดยตลอดตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และจะยังยึดถืออย่างแน่วแน่ต่อไปในอนาคต

จุดยืนที่ชัดเจน แน่วแน่ และสามารถตรวจสอบ ได้ของเครือมติชน-ข่าวสด ซึ่งสังคมประจักษ์อยู่แล้วก็คือ การยืนเคียงข้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และเป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม โดยมุ่งให้เกิดความสงบสันติ และความสุขสมบูรณ์ของสังคมและเพื่อนร่วมชาติเป็นสำคัญ ดังที่เคยแสดงจุดยืนนี้มาแล้ว ในแถลงการณ์ร่วมของเครือเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ชุมนุมลดอุณหภูมิของการเผชิญหน้า และยุติการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาโดยทันที แต่ข้อเสนอเช่นนี้กลับมิได้รับการสนองตอบในทางที่ถูกต้องจากผู้มีอำนาจ ในฝ่ายบริหาร

ต่อการถูกสอบสวนครั้งนี้ บรรณาธิการของทั้งหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ข่าวสด ก็ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการด้วยการชี้แจงเป็น เอกสาร ซึ่งยืนยันว่ามีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการภายในมาก่อนแล้ว และไม่พบพฤติ กรรมที่ละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพแต่อย่างใด

ในข้อ เสนอแนะประการที่ 4 จากรายงานของคณะอนุกรรมการดังกล่าวที่ระบุให้ สภาการหนัง สือพิมพ์แห่งชาติควรตักเตือนหนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวและแหล่งข่าวที่ได้รับมาอย่างรอบคอบรัดกุม ก่อนนำเสนอข่าวที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และต้องไม่เสนอข่าวโดยเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบได้นั้น

น่าจะเป็นภาพสะท้อนการทำงานของคณะอนุ กรรมการผู้จัดทำรายงานดังกล่าว ปราศจากการตรวจสอบที่รอบคอบรัดกุม

ที่ ผ่านมาเครือมติชน-ข่าวสดถูกกล่าวหา ถูกใส่ร้ายป้ายสีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการยัดเยียดข้อหาล้มเจ้าหรือข้อหาบ่อนทำลายสถาบันยุติธรรม แต่ก็ใช้ความอดทนไม่ตอบโต้ และใช้การกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตนเองมาโดยตลอด จนความเป็นจริงปรากฏชัดเจนว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นเรื่องเลื่อนลอยไร้มูล ความจริงโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้น เครือมติชน-ข่าวสดจึงขอสงวนสิทธิตามกฎหมายในฐานะพลเมืองไทย ในอันที่จะปก ป้องสิทธิและชื่อเสียงของตนเอง หากถูกกล่าวหาโดยเลื่อนลอยและไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะจากองค์กรหรือบุคคลใดก็ตาม

ด้วยความมั่นใจในวัตรปฏิบัติ และผลงานที่พิสูจน์ตนเองมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ว่าอยู่ในกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และการทำงานของกอง บรรณาธิการเป็นอิสระ-มีเสรีภาพตามที่รัฐธรรม นูญ 2550 ให้การรับรอง เครือมติชน-ข่าวสดเชื่อมั่นว่าสังคมและผู้อ่านสามารถตรวจสอบความสุจริต และความโปร่งใสในวิชาชีพของหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ ในเครือทั้งหมดได้ตลอดเวลา

จึงเรียนมาด้วยความเคารพ

Related Posts by Categories



You want it? Click here | Yul Jet

No comments:

Post a Comment