Saturday, August 27, 2011

เปิดคำพิพากษา 2คดีแรกเสื้อแดง ยิงฮ.-เผาศาลากลาง ทั้งยกฟ้อง-จำคุก

คอลัมน์ แฟ้มคดี



หลัง ผ่านเหตุ การณ์นองเลือดเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มานานกว่า 1 ปี พร้อมผู้เสียชีวิต 91 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และมีอีกนับร้อยที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว

ส่วน หนึ่งเพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และอีกส่วนปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส่วนโดยตรงกับเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดง


อย่างไรก็ ตามเมื่อพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล จึงเริ่มคืนความเป็นธรรมให้กลุ่มเสื้อแดงหรือนปช. โดยไม่ยื่นเรื่องคัดค้านการประกันตัว ประกอบกับการที่ศาลสืบพยานไปจำนวนมาก และเชื่อว่าผู้ต้องหาไม่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

จึงเริ่มให้ประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งส่วนใหญ่โดนคดีก่อการร้าย หรือฝ่าฝืนพ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน

เริ่มจากเสื้อแดงอุดรธานี ที่ส.ส.ใช้ตำแหน่งและเงินสดจำนวนหนึ่งยื่นประกันตัวออกมาชุดแรกรวม 22 คน

พร้อมกันนี้ก็ให้ส.ส.ในพื้นที่ซึ่งมีผู้ต้องหาถูกคุมขัง เดินเรื่องช่วยประกันตัวเป็นจังหวัดๆ ไป

ขณะ เดียวกันคดีเกี่ยวกับคนเสื้อแดงซึ่งศาลสืบพยานจนสามารถมีคำพิพากษาออกมาโดย มีอยู่ 2 คดีที่ได้รับความสนใจ และศาลชั้นต้นพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว

ยกฟ้องคดี 3 เสื้อแดงยิงฮ.

คดี ที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุดคดีหนึ่งคือกรณีพนักงานสอบสวนจับกุม นางนฤมล หรือ จ๋า วรุณรุ่งโรจน์, นายสุรชัย หรือ ปลา นิลโสภา และ นายชาตรี หรือ หมู ศรีจินดา ผู้ชุมนุมเสื้อแดง โดยกล่าวหาว่ามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง

และกล่าวหาว่าทั้งหมดร่วมกันใช้อาวุธสงครามยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของทหาร ระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

ทั้ง 3 คนถูกจับกุมและคุมขังมานานกว่า 1 ปี โดยนางนฤมลสารภาพในชั้นศาลสอบสวนครอบครองประทัดยักษ์ 1 อัน ส่วนนายสุรชัยรับว่าใช้ป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมขับเข้าไปในการชุมนุมเมื่อวัน ที่ 10 เมษายน บริเวณถนนราชดำเนิน ส่วนข้อหาอื่นๆ ให้การปฏิเสธ

กระทั่งวันที่ 25 สิงหาคม ศาลจังหวัดพระโขนง กรุงเทพฯ นัดอ่านคำพิพากษา มีบรรดากลุ่มแนวร่วม นปช.มาร่วมฟังแน่นห้องพิจารณา

ผู้ พิพากษาอ่านคำบรรยายฟ้องของพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์โดยย่อว่า จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันครอบครองอาวุธปืนอาก้า 5 กระบอก, อาวุธปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก, อาวุธปืนคาร์ไบน์ 1 กระบอก, ซองกระสุนปืน 17 อัน, ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหาร 8 ลูก, ลูกระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 4 นัด, ระเบิดแก๊สน้ำตา 3 ลูก, เครื่องกระสุนปืนขนาดต่างๆ 860 นัด, ระเบิดแสวงเครื่องประกอบเอง 10 ลูก, และขวดเครื่องดื่มชูกำลังบรรจุน้ำมันเบนซิน ประ กอบเป็นระเบิดเพลิง 102 ขวด นอกจากนี้ ในวันที่ 10 เม.ย.2553 จำเลยที่ 2 ปลอมและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถปลอม จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์ แล้วเห็นว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้ง 3 กระทำผิดฐานครอบครองอาวุธปืนตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าแม้เจ้าพนักงานชุดจับกุมจะปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน และพบของกลางในบ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงเรื่องการจับกุมดังกล่าว รายงานกลับไปยังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อีกทั้งหมายคำสั่งค้นก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ายึดสิ่งของใด

พยานลอยๆ-ยังน่าสงสัย

นอก จากนี้ขณะตรวจค้นมีการถ่ายภาพปืนกลเล็กที่นำไปซ่อนไว้ในถุงกอล์ฟ กว่า 20 ภาพแต่กลับไม่มีภาพดังกล่าวส่งให้แก่พนักงานสอบสวน และไม่มีถุงกอล์ฟ หรือถุงดำ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในพยานของกลาง จึงเป็นเหตุให้สงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ไม่นำส่งหลักฐานดังกล่าวให้พนักงาน สอบสวน อันเป็นข้อพิรุธถึงการสอบสวนของพยานโจทก์

คำพิพากษาระบุต่อ ว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกประการว่า จำเลยที่ 2 ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมหรือไม่ ในทางนำสืบโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานว่า จำเลยที่ 2 ปลอมทะเบียนรถ และใช้รถคันดังกล่าวในวันที่ 10 เม.ย.2553 จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง

ส่วนที่โจทก์มีพยานอ้าง ว่าเห็นจำเลยทั้ง 3 ใช้อาวุธสงครามยิงใส่เฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการชุมนุมของ นปช.นั้น แต่โจทก์กลับไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 3 ครอบครองปืนตามฟ้องหรือไม่อย่างไร จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3

ใน ท้ายของคำพิพากษายังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ 1 ในองค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นแย้ง เนื่องจากในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 รับเป็นเจ้าของประทัดขนาดใหญ่ ขณะที่จำเลยที่ 2 รับว่ากระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอม แต่เนื่องจากความเห็นของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยเป็นผลร้ายแก่จำเลย จึงต้องยอมตามผู้พิพากษาเสียงข้างมาก จึงขอถือให้เป็นความเห็นแย้ง โดยให้ขังจำเลยทั้ง 3 ไว้ในระหว่างฝ่ายโจทก์อุทธรณ์

ทันทีที่ศาลมี คำพิพากษา บรรดากลุ่มแนวร่วม นปช.ที่มาร่วมฟังพากันตะโกนโห่ร้องด้วยความดีใจ ขณะที่จำเลยทั้ง 3 ต่างยิ้มแย้มดีใจ และเมื่อคณะผู้พิพากษาลงจากบัลลังก์แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงกรูเข้าไปสวมกอดจำเลย และมีหลายคนร้องไห้ด้วยความดีใจ

ขณะเดียวกันกลุ่ม นปช.ประสานไปยังแกนนำเพื่อให้ช่วยประกันตัวจำเลย เพื่อออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ในกรณีที่อัยการยื่นเรื่องเข้าไป

ศาลอุบลฯตัดสินคดีแรก

ก่อน คดีที่ศาลพระโขนงจะนัดตัดสิน คดีเกี่ยวกับกลุ่มเสื้อแดงคดีแรกที่มีคำพิพากษาออกมาคือคดีที่ จ.อุบลราชธานี เป็นคดีเกี่ยวกับก่อการร้ายและเผาศาลากลางจังหวัดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ตำรวจและทหารจับกุมผู้ต้องหาก่อนส่งฟ้องเป็นจำเลยรวม 21 คน

ศาลอุบลราชธานีมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา และเพราะเป็นคดีแรกที่มีการตัดสินทำให้กลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่และจังหวัด ใกล้เคียง รวมทั้งแกนนำเดินทางมาร่วมฟังจำนวนมาก

ศาลจึงสั่งติดตั้ง ทีวีวงจรปิดถ่ายทอดการอ่านคำพิพากษา ภายในเต็นท์ให้สมาชิกคนเสื้อแดงราว 200 คน นั่งฟังการอ่านคำพิพากษาบริเวณข้างบันไดทางขึ้นศาล

ผู้พิพากษา ขึ้นบัลลังก์อ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์ต่อความผิดของจำเลยทั้ง 21 คน ฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย และความผิดต่อเจ้าพนักงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยร่วมกันฝ่าฝืนพ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน บุกรุกสถานที่ราชการ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน และวางเพลิงเผาอาคารศาลากลาง โดยใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานราว 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

ก่อนมีคำ พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตมี 4 ราย คือ น.ส.ปัทมา มูลมิล, นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ, นายสนอง เกตุสุวรรณ และนายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ จำเลยคดีเผาศาลากลาง แต่ทั้งหมดให้การเป็นประโยชน์กับรูปคดี จึงลดโทษเหลือจำคุก 33 ปี กับ 4 เดือน

จำเลยที่ต้องโทษจำคุก 3 ปี แต่ลดโทษเหลือ 2 ปี มี 4 ราย ประกอบด้วย นายประดิษฐ์ บุญสุข, นายลิขิต สุทธิพันธ์, นายไชยา ดีแสง, นายพิสิทธิ์ บุตรอำคา

ส่วนให้ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ลดเหลือ 8 เดือน มี 3 ราย คือ นายอุบล แสนทวีสุข, นายสุพจน์ ดวงงาม และ นางอรอนงค์ บรรพชาติ

และ จำเลย 1 รายลงโทษจำคุก 1 ปี คือนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ที่ถูกฟ้องคดีก่อการร้ายแต่ศาลเห็นว่าพฤติกรรมนายพิเชษฐ์ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ ก่อการร้าย แต่กระทำผิดฐานโฆษณาออกอากาศชักชวนให้มีการชุมนุมและการกระทำความผิดเท่า นั้น

จำเลยที่เหลืออีก 9 คน ศาลยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ เนื่องจากอัยการมีหลักฐานเพียงภาพถ่ายของจำเลยที่อยู่ร่วมการชุมนุม แต่ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานว่าร่วมก่อเหตุรุนแรง

ตัดสินปล่อยตัว-ขังต่อ

หลัง อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นศาลให้ปล่อยตัวจำเลยที่ยกฟ้อง และจำเลยที่ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน-1 ปีทันที เนื่องจากถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเกินโทษที่ได้รับแล้ว

มีเพียง นายพิเชษฐ์ที่แม้ศาลจะปล่อยตัวแต่ก็ถูกพนักงานสอบสวนในคดีเผาเรือที่ชุมชน ราชธานีอโศก เผายางรถยนต์ที่หน้ากองบิน 21 และเผายางที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ได้ขออายัดตัวไว้ดำเนินคดีต่อทันที

วัน เดียวกันญาติจำเลย และส.ส.เพื่อไทย ยื่นเรื่องขอประกันตัวจำเลยออกมาเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง 4 รายที่ต้องโทษสถานหนัก ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว

แม้ตอนนี้ยังมี อีกหลายคดีที่ค้างคาอยู่ แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่จำเลยจำนวนมากที่ถูกขังลืมมานานกว่า 1 ปี เริ่มทยอยได้รับอิสรภาพเพื่อออกมาต่อสู้คดี และบางคดีศาลก็ตัดสินปล่อยตัวหรือลงโทษตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ

แต่มี คำถามไปถึงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสูญเสีย 91 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ราย สมควรที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมลักษณะเดียวกันหรือไม่

รวม ทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองที่ถูกดำเนินคดีข้อหาใกล้เคียงกับกลุ่มเสื้อแดง แถมก่อเหตุมาก่อนหน้านานหลายปี ความยุติธรรมควรจะมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่!??

Related Posts by Categories



You want it? Click here | Yul Jet

No comments:

Post a Comment